Saturday, 18 May 2024
Factory Sandbox

‘เลขาธิการ สปส.’ ลุย! ตรวจติดตามการขับเคลื่อนโครงการ “Factory Sandbox” จ.สมุทรปราการ

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2564 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม ลงพื้นที่ในจังหวัดสมุทรปราการ ตรวจเยี่ยมโรงงาน ตามโครงการ “Factory Sandbox” ณ บริษัท ศูนย์บริการเหล็กสยาม จำกัด (มหาชน) อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีนายพินิจ ผุดไซตู ประกันสังคมจังหวัดสมุทรปราการ นายสุรศักดิ์ คุณานันทกุล ผู้อำนวยการบริษัท ศูนย์บริการเหล็กสยาม จำกัด (มหาชน) นายฮิโรยูกิ อิโนกูจิ รองผู้อำนวยการ บริษัท ศูนย์บริการเหล็กสยาม จำกัด (มหาชน) นายแพทย์เขตโสภณ จัตวัฒนกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิครินทร์ สมุทรปราการ พร้อมเจ้าหน้าที่ และพนักงานบริษัท ศูนย์บริการเหล็กสยาม จำกัด (มหาชน) ร่วมให้การต้อนรับ

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการ “Factory Sandbox” ภายใต้นโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งกระทรวงแรงงานในการกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่มีความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกภาคส่วนของประเทศ กระทรวงแรงงาน

โดย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีแนวคิดในการจัดการโครงสร้างและกระบวนการในลักษณะ “เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข” ที่มุ่งเป้าดำเนินการควบคู่กันระหว่าง สาธารณสุขและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการผลิต ซึ่งถือเป็นกลไกหลักที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน โดยมีหลักการสำคัญ คือ ตรวจ รักษา ควบคุม ดูแล เพื่อให้การบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเกิดประโยชน์สูงสุดและตรงกลุ่มเป้าหมาย ให้ผู้ประกันตนในสถานประกอบการที่ดำเนินกิจการในภาคการผลิตและอุตสาหกรรมส่งออก

ซึ่งมีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ในพื้นที่ 11 จังหวัดนำร่องที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา ระยอง ลพบุรี สระบุรี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ได้รับการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 โดยให้มีการจำกัดอยู่ในพื้นที่ไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างอันจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนสุขภาวะของประชาชนทั่วประเทศ ตามแนวทางโครงการ “Factory Sandbox”

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า สำนักงานประกันสังคม (สปส.) มีความมุ่งมั่น และทุ่มเทการทำงาน พร้อมร่วมช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ดำเนินธุรกิจไปต่อโดยไม่ต้องหยุดการผลิต และเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนในทุกสถานการณ์อย่างทันท่วงที และรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นจากผลกระทบในทุกด้านเพื่อหาแนวทางกำหนดมาตรการแก้ไขให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

 

 

โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ สั่งการเตรียมความพร้อมภาคแรงงาน เดินเครื่องเศรษฐกิจ เดินหน้า Factory Sandbox เฟส2 เปิดทางแรงงาน 3 สัญชาติ ตาม MOU ที่กระทรวงแรงงานเสนอ

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึง แนวนโยบายตามข้อสั่งการของ พลเอกเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ได้ให้แนวทางหลังรัฐบาลได้ขับเคลื่อนการเปิดประเทศ ซึ่งภาพรวมเป็นไปได้อย่างดี ทั้งนี้ ภาคแรงงานซึ่งเป็น หนึ่งในฟันเฟืองที่สำคัญ ที่จะทำให้ภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยขับเคลื่อนไปได้อย่างสำเร็จ โดย นายกรัฐมนตรี ให้แนวทาง เดินหน้า โครงการ Factory Sandbox ระยะที่ 2 พร้อมเปิดทางให้ แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานเสริมทัพภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย ตาม MOU ที่กระทรวงแรงงานเสนอให้พิจารณา

นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงแรงงานเดินหน้าโครงการ Factory Sandbox ในระยะที่ 2 เน้นการดำเนินการ ตามมาตรการ ตรวจ ควบคุม รักษา ดูแล  โดยขยายกรอบขอบเขตจังหวัด จากเดิมดำเนินการใน 4 จังหวัด เพิ่มเป็น 11 จังหวัด รวมได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ อีกทั้ง ปรับลดหลักเกณฑ์ขนาดสถานประกอบการ จากเดิม กำหนด 500 คนขึ้นไป เป็น 100 คนขึ้นไป  
 
นายธนกร กล่าวว่า นอกจากนี้ หลังการประชุมหลังประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 18/2564 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 กระทรวงแรงงานจะเปิดให้มีการนำเข้าแรงงานตาม MOU ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งคาดว่าหลังวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 นายจ้างสามารถยื่นความต้องการจ้างแรงงานที่กรมการจัดหางานได้เลย โดยแรงงานต่างด้าวที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยต้องเข้ารับการกักตัว และตรวจหาเชื้อโควิด – 19 ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วต้องกักตัว 7 วัน หากฉีด 1 เข็ม หรือยังไม่เคยรับวัคซีน จะต้องกักตัว 14 วัน ระหว่างกักตัวจะมีการตรวจหาเชื้อโควิด ด้วยวิธี RT – PCR 2 ครั้ง

โดยให้นายจ้าง/สถานประกอบการ รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ซึ่งประกอบด้วยค่าสถานที่กักกัน วันละ 500 – 1,000 บาท และค่าตรวจหาเชื้อโควิด2 ครั้ง รวม 2,600 บาท กรณีคนต่างด้าวติดเชื้อฯ นายจ้างหรือบริษัทประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษา ซึ่งวันสุดท้ายของการกักตัวแรงงานต่างด้าวที่ยังรับวัคซีนไม่ครบเกณฑ์ จะได้รับการฉีดวัคซีนโดยกระทรวงแรงงานเป็นผู้จัดหาให้ ในส่วนของเข็มที่ 2 กระทรวงแรงงานจะประสานสาธารณสุขจังหวัดปลายทางเพื่อนัดหมายฉีดวัคซีนให้แก่แรงงานต่างด้าวตามกำหนด โดยนายจ้างจ่ายแค่ค่าบริการทางการแพทย์


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top